วันศุกร์ที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2556

2. ความสำคัญและที่มาของปัญหาการวิจัย (Background & Rationale)

2.              ความสำคัญและที่มาของปัญหาการวิจัย (Background & Rationale)
ลัดดาวัลย์  เพชรโรจน์ และอัจฉรา  ชำนิประศาสน์ (2547:33) ได้กล่าวไว้ว่า การเขียนหลักการและเหตุผล ความสำคัญของปัญหาหรือความสำคัญและที่มาของปัญหาการวิจัย มีหลักการดำเนินการตามขั้นตอนดังนี้
1.ต้องเขียนให้ตรงกับหัวข้อปัญหา มีความชัดเจน เปิดเผยและย่นย่อที่สุด โดยสรุปสาระถึงความเป็นมาของปัญหาว่ามีเหตุผลอะไรจึงทำวิจัยเรื่องนี้มีความเจ้าใจถึงความสำคัญ และคุณค่าของปัญหา มีข้อมูลอะไรเป็นหลักฐานยืนยันถึงแหล่งที่มาของปัญหา หรือมีทฤษฎี หลักการ แนวคิด งานวิจัย ข้อเขียน บทความที่เชื่อถือได้ ยืนยันได้มากน้อยเพียงใด ผู้วิจัยจะต้องไม่กล่าวขึ้นมาลอยๆหรือกล่าวจากความรู้สึก เพราะจะทำให้ประเด็นปัญหาเลื่อนลอย ขาดความหนักแน่น
2. การเรียงลำดับของการนำเสนอประเด็นปัญหาควรจะกล่าวเรื่องทั่วๆไปก่อน แล้วจึงวกเข้าสู่เรื่องเฉพาะ (ซึ่งจะเป็นทฤษฎี) จากนั้นจึงค่อยๆนำเข้าสู่ตัวปัญหาที่กำหนดไว้ หรืออาจจะเขียนนำจากกรณีเฉพาะ แล้วดำเนินไปสู่เรื่องทั่วๆไป โดยกล่าวถึงตัวปัญหาที่ทำการวิจัยอาจเริ่มจากประวัติความเป็นมาของปัญหามูลเหตุจูงใจ หรือความจำเป็นที่ต้องทำวิจัย และข้อค้นพบที่ได้จะนำไปสู่หลักการหรือทฤษฎีเพื่อใช้ในกรณีทั่วๆไปอย่างไร
บุญชม  ศรีสะอาด  (2554:16) ได้กล่าวไว้ว่า ภูมิหลังหรือบทนำ หรือที่มาและความสำคัญของปัญหา เป็นส่วนกล่าวถึงที่มาของปัญหาที่จะศึกษา ควรเขียนในลักษณะวิเคราะห์ปัญหา ให้ผู้อ่านเข้าใจอย่างชัดเจนว่าปัญหาของการวิจัยนั้นคืออะไร เหตุใดผู้วิจัยจึงสนใจศึกษาค้นคว้าเรื่องนั้น ในการเขียนภูมิหลังจะต้องใช้โครงเรื่อง (Theme) ของผู้วิจัยเอง อาจอ้างถึงทฤษฎี กฎเกณฑ์หรือคำกล่าวที่เชื่อถือได้ของบุคคลอื่น เพื่อให้มีน้ำหนัก มีความสมบูรณ์
รวีวรรณ  ชินะตระกูล (2538:274) ได้กล่าวไว้ว่า ความสำคัญและที่มาของปัญหาผู้วิจัยจะต้องกำหนดประเด็นปัญหา และความสำคัญของปัญหาที่ต้องการศึกษาในการวิจัยให้ชัดเจน การกำหนดปัญหาไว้อย่างชัดเจนช่วยในการวางแผนในการวิจัยได้อย่างดี ในการเขียนควรกล่าวถึงข้อมูลพื้นฐาน และปัญหาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่ทำการวิจัย เพื่อนำไปสู่วัตถุประสงค์ที่ทำการวิจัย   ดังนั้นการเขียนไม่จำเป็นต้องเขียนให้ยืดยาวจนเกินไป   ทั้งนี้ผู้อ่านมักสนใจประเด็นของปัญหาผู้วิจัยเสนอไว้เพื่อนำไปสู่การศึกษาวิจัยต่อไป

สรุป
ที่มาและความสำคัญของปัญหา เป็นส่วนกล่าวถึงที่มาของปัญหาที่จะศึกษา ควรเขียนในลักษณะวิเคราะห์ปัญหา ให้ผู้อ่านเข้าใจอย่างชัดเจนว่าปัญหาของการวิจัยนั้นคืออะไร เหตุใดผู้วิจัยจึงสนใจศึกษาค้นคว้าเรื่องนั้น ในการเขียนจะต้องใช้โครงเรื่อง (Theme) ของผู้วิจัยเอง อาจอ้างถึงทฤษฎี กฎเกณฑ์หรือคำกล่าวที่เชื่อถือได้ของบุคคลอื่น เพื่อให้มีน้ำหนัก มีความสมบูรณ์ ในการเขียนควรกล่าวถึงข้อมูลพื้นฐาน และปัญหาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่ทำการวิจัย เพื่อนำไปสู่วัตถุประสงค์ที่ทำการวิจัย   ดังนั้นการเขียนไม่จำเป็นต้องเขียนให้ยืดยาวจนเกินไป   ทั้งนี้ผู้อ่านมักสนใจประเด็นของปัญหาผู้วิจัยเสนอไว้เพื่อนำไปสู่การศึกษาวิจัยต่อไป
ที่มา :
ลัดดาวัลย์  เพชรโรจน์ และอัจฉรา  ชำนิประศาสน์. (2547). ระเบียบวิธีการวิจัย . กรุงเทพฯ: พิมพ์ดีการ
         พิมพ์.
บุญชม  ศรีสะอาด. (2554) . การวิจัยเบื้องต้น . (พิมพ์ครั้งที่ 9) .กรุงเทพฯ : สุวีริยาสาส์น.
รวีจรรณ  ชินะตระกูล. (2538).วิธีวิจัยการศึกษา.(พิมพ์ครั้งที่ 2).กรุงเทพฯ : ภาพพิมพ์.












ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น